Custom Search
##=================================================================## ##=================================================================##

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ความเร็วชัตเตอร์

ก่อนอื่นเรามารู้จักกับม่านชัตเตอร์กันก่อนนะครับ ม่านชัตเตอร์ มีลักษณะเป็นกลีบโลหะบางๆ ทำด้วยไททาเนียม หรือผ้าเคลือบยาง การทำงานมี 2 แบบคือ เคลื่อนที่ตามแนวนอน (Focal Plane Shutter) และเคลื่อนที่ตามแนวดิ่ง (Copal Square Shutter) ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะนิยมผลิตแบบเคลื่อนที่ตามแนวดิ่งมากกว่า เพราะระยะทางการเคลื่อนที่สั้นกว่าแบบแนวนอน ทำค่าความเร็วชัตเตอร์สูงสุดได้มากกว่า เช่น 1/4000, 1/8000, 1/12000 วินาที ทำให้สามารถบันทึกภาพสิ่งเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่งได้ดีขึ้น ลักษณะการทำงานคือเปิดและปิดตามระยะเวลาที่กำหนด ประกอบด้วยม่านชัตเตอร์ 2 ชุด ทำงานโดยม่านชุดแรกเปิดขึ้นเมื่อกดปุ่มชัตเตอร์ลง และม่านชัตเตอร์ชุดที่สองปิดลงเมื่อครบกำหนดตามเวลาที่ตั้งไว้ เช่น เราตั้งความเร็วชัตเตอร์ไว้ที่ 1 วินาที เมื่อเรากดปุ่มชัตเตอร์ลง ม่านชัตเตอร์ชุดที่ 1 จะเปิดรับแสงที่ผ่านเข้ามา และเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 1 วินาที ม่านชัตเตอร์ชุดที่ 2 จะทำหน้าที่ปิดการรับแสง ก็เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการทำงานของม่านชัตเตอร์ครับ

ตัวเลขบอกค่าความเร็วชัตเตอร์เป็นตัวเลขแสดงไว้ เช่น 1, 2, 4, 8, 16, 30, 60, 125, 250, 500, 1000, 2000 และ B ตัวเลขต่างๆ ที่ท่านเห็นอยู่นั้นเป็นตัวเลขที่มีค่าเป็นเศษส่วนของวินาทีเท่านั้น คือ 1/2 วินาที 1/4 วินาที 1/15 วินาที เรี่อยไปจนถึง 1/2000 หรือ 1/4000 วินาที
ตัวเลขต่างๆ เป็นค่าที่กำหนดให้แสงผ่านเข้ากระทบกับเซนเซอร์ ถ้าค่าแสงมากความเร็วชัตเตอร์ก็จะมีค่าสูงมากขึ้น ถ้าค่าแสงขณะนั้นน้อยความเร็วชัตเตอร์ก็จะลดต่ำลงตามลำดับครับ ค่าความเร็วชัตเตอร์แต่ละค่าห่างกันเรียกว่า 1 สต็อป (F stop) แต่ละสต็อปของการปรับความเร็วชัตเตอร์ก็จะมีผลต่อภาพไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ถ้าความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ถ้าถ่ายภาพที่มีการเคลื่อนไหว ก็จะทำให้ภาพที่ได้ไม่คมชัด ต้องใช้ค่าความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เช่น 1/500, 1/1000 เป็นต้น จึงจะหยุดภาพที่มีการเคลื่อนไหวให้นิ่งได้ครับ หรือสภาพแสงขณะนั้นน้อยมาก ค่าความเร็วชัตเตอร์ก็จะต่ำมาก ไม่สามารถบันทึกภาพได้ด้วยมือเปล่า ต้องใช้ขาตั้งกล้องประกอบด้วย ภาพจึงจะคมชัด
ส่วนในกล้อง ที่ใช้ระบบถ่ายภาพอัตโนมัติกล้องจะเลือกรูรับแสง และความความเร็วชัตเตอร์ให้อย่างเหมาะสมตลอดเวลาทำให้ได้ภาพที่พอดีเสมอครับ ฉะนั้นหากท่านที่ไม่มีความรู้เรื่องระบบการทำงานต่างๆ ของกล้อง ก็สามารถเลือกใช้ระบบอัตโนมัติ แต่ถ้าอยากให้ได้ภาพที่สวยงามแปลกตาแตกต่างไปจากเดิมท่านก็สามารถเปลี่ยนไปใช้ระบบการทำงานแบบปรับตั้งเอง(Manual)
เช่นใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆถ่ายภาพ เคลื่อนไหว หรือ กีฬา ความเร็วชัตเตอร์น้อยๆถ่าย
ภาพน้ำตกให้เป็นสาย หรือ ในถาพในที่แสงน้อย เพื่อให้มีความสว่างมากขึ้น