Custom Search
##=================================================================## ##=================================================================##

วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การถ่ายภาพ Macro

การถ่ายภาพ Macro คือการถ่ายภาพที่อยู่ระหว่างกลาง ระหว่างการถ่ายภาพในระยะที่ใกล้ (closeup) และระยะประชิด (photomicrography) ด้วยการใช้กล้องถ่ายภาพธรรมดากับเลนส์ธรรมดา หรือด้วยการใช้มาโครเลนส์ (macro lenses) หรือด้วยการนำอุปกรณ์เสริมบางชนิดมาใช้ควบคู่กันไป เช่น กล่องพับ-ยืด (bellows) หรือด้วยการใช้ท่อต่อ (extension tubes) หรือว่าด้วยการใช้เลนส์ขยาย (supplementary closeup lenses) เพื่อให้ได้ขนาดของภาพ (image) เท่ากับขนาดของสิ่งที่ถ่าย (life size) หรือ 1:1ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องการถ่ายภาพของเหรียญบาท ภาพที่จะได้ ซึ่งเรียกว่า image จะต้องเป็นขนาดเดียวกันกับตัวเหรียญ มิใช่เล็กกว่า หรือว่ามีขนาดเท่ากันแต่เกิดจากการอัด-ขยายภาพที่มาจาก image ที่เล็กกว่าของจริงเพื่อให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ได้ภาพที่มีขนาดเดียวกัน ไปจนถึงการถ่ายภาพที่มีกำลังขยายที่ใหญ่กว่าด้วยการใช้กล้องถ่ายภาพธรรมดาต่อเข้ากับชุดของกล้องจุลทัศน์ (Microscope) ซึ่ง ชุดปกติที่ใช้ในการถ่ายภาพ macro จะมีกำลังขยายของเลนส์ (objective lens) ที่ 4X และตัวปรับมอง (eye piece) ที่ 10X ซึ่งจะได้ 40:1 ส่วนขนาดจบของ Photomacrography ก็คือขนาดเริ่มต้นของการถ่ายภาพ Photomicrography ซึ่ง อาจจะเป็น 10:1 หรือ 50:1 ก็ได้ ขึ้นอยู่กับกำลังขยายของ objective lens กับ Eye Piece เพราะมิได้มีการกำหนดเป็นขนาดที่แน่นอนออกมา...





ขนาดเริ่มต้นและขนาดจบของการถ่ายภาพ Photomicrography เองก็ยังมิได้มีการกำหนดเป็นขนาดที่แน่นอนออกมาให้ใช้ เช่นกัน

เมื่อเราถ่ายภาพที่ 1:1 นั้น อย่าเข้าใจว่าเรากำลังถ่ายภาพ Macro นะครับ
เราเพิ่งจะจบการถ่ายภาพ Closeup กำลังเดินจากมาเท่านั้น และก็เพียงแค่เริ่มต้นที่จะเข้าไปในการถ่ายภาพ Macro แต่ยังถือว่าอยู่ในระหว่างช่วง Closeup
การ ถ่ายภาพที่จะให้ได้คุณภาพที่สูงในขนาดที่ใหญ่เกิน 1:1 นั้น มีทางเดียวที่จะถ่ายให้ดีได้คือการถ่ายในสตูดิโอด้วยการใช้กล้องจุลทัศน์


สำหรับในการถ่ายภาพ Macro ทั่วๆไป เราสามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆได้ดังต่อไปนี้...
1) ด้วยการใช้ Macro Lenses ซึ่งเป็นเลนส์พิเศษที่ได้ผลิตขึ้นมาเพื่อที่จะให้ใช้ถ่ายภาพประเภท Closeups โดยเฉพาะ
เป็นเลนส์ fixed focal length หรือเลนส์เดี่ยวที่มีระยะความยาวอยู่ที่ 50 มม. 55 มม. 60 มม. และ 100 มม.
เลนส์เหล่านี้เป็นเลนส์ถ่ายภาพที่นอกจากจะใช้ถ่ายได้ตามความยาวตามปรกติของตัวมันเองแล้ว
ยังสามารถที่จะใช้ถ่ายภาพในระยะใกล้ได้ถึง 1:2 reproduction ratio หรือ half life size
และเมื่อได้ใช้ต่อเข้ากับท่อต่อ ซึ่งปรกติจะมาควบคู่กับเลนส์ก็จะทำให้สามารถใช้ถ่ายภาพได้ถึง 1:1 หรือ life size
อุปกรณ์ชิ้นนี้จะให้คุณภาพดีที่สุด สะดวกและเหมาะที่สุดในการพกพา แต่ก็จะแพงที่สุดด้วย

2) การใช้ Bellows หรือกล่องพับ-ยืด วิธีนี้เป็นการใช้กล่องพับ-ยืดใส่ระหว่างเลนส์กับตัวกล้อง
เพื่อทำให้ระยะทางระหว่างด้านหลังของเลนส์กับระนาบฟิล์มห่างออกจากกัน
จะสามารถให้อัตราการขยายได้สูงที่สุด เหมาะทั้งการใช้ในสตูดิโอและการนำไปใช้ในภาคสนาม ราคาของชุดก็ค่อนข้างสูง

3) การใช้ Extension Tubes หรือท่อต่อ ปกติจะมาเป็นชุดซึ่งจะมีอยู่ด้วยกันหลายระยะความยาว
วิธีใช้จะเหมือนกันกับการใช้ Bellows คือเป็นการทำให้ระยะทางของเลนส์กับฟิล์มห่างกันออกไป
ด้วยการใส่ระหว่างเลนส์กับตัวกล้อง แต่คุณภาพจะด้อยกว่าและราคาก็จะถูกกว่ากันมาก

4) การกลับเลนส์ หรือที่เรียกกันว่า Reversing Lens โดยการใช้ แหวนกลับเลนส์ (Reversing Ring) มาใส่
แล้วกลับด้านของเลนส์ที่ใช้ในการถ่ายภาพกับกล้องหรือจะใช้ร่วมกับกล่องพับยืดก็ได้
เราสามารถใช้เลนส์ที่ใช้ถ่ายรูปหรือเลนส์ของเครื่องอัดขยายภาพก็ได้

ยังมีการใช้ Supplementary Closeup Lenses หรือเลนส์ขยาย
บางครั้งก็เรียกว่า closeup attachment lenses หรือ pluses
ซึ่งเป็นเลนส์ขยายธรรมดาที่ได้รับการผลิตขึ้นมาเพื่อให้ใช้ใส่ที่ด้านหน้าของเลนส์เช่นเดียวกันกับแผ่นกรองแสง (Filters)
เพื่อใช้ช่วยเพิ่มกำลังขยายในการถ่ายภาพในระยะใกล้มากๆ เลนส์ประเภทนี้มีกำลังขยายเป็น diopter เช่น +1 +2 +3 และ+4 เป็นต้น
สามารถ ใส่ทับกันได้เพื่อให้ได้กำลังขยายที่สูงกว่า หากเลือกที่จะใช้วิธีนี้ ควรเลือกใช้เลนส์ที่มีคุณภาพสูงหน่อยเพื่อที่จะให้ได้ภาพที่มีคุณภาพดีขึ้น
หรืออย่างน้อยก็ควรจะเท่าที่เลนส์ของกล้องสามารถผลิตได้
(การใช้เลนส์ขยายเพื่อเสริมกำลังขยายไม่ใช่การถ่าย closeups ที่แท้จริง
เพราะมันเป็นการดึงภาพให้เข้ามาใกล้ด้วยกำลังขยายของเลนส์ เช่นเดียวกันกับในการใช้เทเลโฟโต้เลนส์มากกว่าแต่ก็เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไป)

...นอกจากนี้ยังมี Zoom Lenses มากมายที่ระบุว่าเป็น Macro Lenses
แต่เลนส์เหล่านี้จะมีความสามารถในการสร้างภาพบนฟิล์มให้มีขนาดใหญ่ที่สุดได้เพียง 1:4 reproduction ratio หรือ Magnification ที่ 0.25 X ของกำลังขยาย เท่านั้นเอง


การถ่ายภาพในระยะเช่นนี้ความคมชัดเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง แม้แค่กล้องสั่นแต่เพียงเล็กน้อยก็อาจจะทำลายภาพได้เลย ดังนั้นจึงควรที่จะใช้ขาตั้งที่มีความแข็งแรงมั่นคงและใช้สายลั่นชัตเตอร์ช่วยในการกดชัตเตอร์เพื่อลดความสั่นสะเทือน หากไม่ได้เตรียมไปก็ให้ใช้วิธีตั้ง self timer หรือ/และล็อคกระจกแทน และถ้าหากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มือถือ ควรตั้งค่าความไวแสงสูงเช่น ISO 400 หรือ 800 หรือสูงกว่า และให้ใช้ความไวของชัตเตอร์ที่สูงขึ้น เพื่อเป็นการช่วยลดความสั่นสะเทือนของกล้อง และการเคลื่อนไหวของสิ่งที่จะถ่ายได้ไปได้บ้าง หรือไม่ก็คงจะต้องใช้แฟลชช่วย และเนื่องจากการถ่ายภาพในลักษณะนี้ การโฟกัสค่อนข้างจะยากและความชัดลึกเกือบจะไม่มีให้เห็น ดังนั้นการโฟกัสจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ขยับเพียงนิดเดียวเป็นเปลี่ยน
หาก มีรางที่ใช้สำหรับเลื่อนกล้องก็ควรใช้ เมื่อโฟกัสขั้นต้นเรียบร้อยแล้วให้ใช้วิธีเลื่อนกล้องเข้า-ออก เพื่อหาความชัด แทนการปรับหน้ากล้อง ควรใช้หน้ากล้องที่แคบเพื่อที่จะได้ความชัดลึกบ้าง แต่การใช้หน้ากล้องที่แคบสุด ก็จะมีปัญหาในเรื่องความคมชัดได้
ดังนั้นหากต้องการความคมชัดที่ดี ขาตั้งต้องมีความแข็งแรง สายลั่นชัตเตอร์ต้องมี หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวหรือการสั่นสะเทือน